ความเป็นมาของโครงการ
ปัญหาการเดินทางของประชาชนที่ใช้เวลาเดินทางยาวนาน ไม่สามารถกำหนดเวลาการเดินทางได้ ขาดความสะดวกสบายและปลอดภัยนั้น เป็นปัญหาอุปสรรคหลักของระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร แม้ว่าจะมีโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนระบบรางระบบหลัก (Primary Rail Mass Transit System) คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียว-สายสุขุมวิทและสายสีลมรวมส่วนต่อขยายไป วงเวียนใหญ่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน-รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันแล้ว รวมถึง โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายบางซื่อ- บางใหญ่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย-สายหัวลำโพง-บางแคและสายเตาปูน-ท่าพระ และรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่จะดำเนินการตามแผนการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับรองรับการเดินทางของประชาชน แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับความต้องการได้อย่างเพียงพอของประชาชนในหลายพื้นที่ที่รถไฟฟ้าระบบรางระบบหลักไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น เพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนระบบรางแทนรถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตศูนย์กลางธุรกิจกรุงเทพมหานครซึ่งนำไปสู่การสูญเสียทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างมหาศาล จึงเห็นควรให้มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางขนาดรอง (Secondary Rail Mass Transit System) เพื่อเสริมระบบหลักดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางขนาดใหญ่ (Heavy Rail Mass Transit) แบบที่ใช้ในระบบหลักนั้น ต้องใช้พื้นที่มากสำหรับจัดวางโครงสร้างรองรับทางวิ่งที่มีขนาดใหญ่ สำหรับสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและโรงจอดรถไฟฟ้าที่ต้องมีขนาดใหญ่ตาม ซึ่งจะทำให้เป็นข้อจำกัดสำหรับสภาพพื้นที่ปัจจุบันที่มีพื้นที่น้อย ดังนั้น เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงข่ายขนส่งมวลชนระบบรางขนาดรองให้มีความคุ้มทุนและนำมาสู่การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางขนาดรองสำหรับพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพฯ โดยรอบ จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางที่ระบบขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าถึง นั่นคือ ระบบรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Mass Transit) ที่สามารถป้อนการเดินทางไปสู่โครงข่ายระบบหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบขนส่งมวลชนระบบรางขนาดเบาสามารถใช้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรองที่มีประสิทธิภาพโดยใช้ในเขตศูนย์กลางธุรกิจที่ระบบหลักเข้าไม่ถึง เหมาะสำหรับพื้นที่เมืองที่มีพื้นที่เขตทางค่อนข้างจำกัด ด้วยข้อดีคือสามารถก่อสร้างได้รวดเร็วและใช้งบประมาณน้อยกว่าระบบขนส่งมวลชนระบบรางขนาดใหญ่ รวมทั้งเหมาะสมกับพื้นที่ที่มีปริมาณผู้โดยสารไม่สูงนัก เพื่อป้อนผู้โดยสารเข้าสู่เส้นทางรถไฟฟ้าระบบหลัก และสามารถเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางของชาวกรุงเทพฯ ในอนาคตได้
ปัจจุบันพื้นที่ตามแนวถนนสายบางนา–ตราด ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่ใช้เดินทางสู่ภาคตะวันออกและสนามบินสุวรรณภูมิมีการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยและพื้นที่พาณิชยกรรมค่อนข้างหนาแน่น แต่ยังไม่มีระบบรถไฟฟ้ารองรับ จึงทำให้มีการจราจรบนถนนหนาแน่นและติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน ดังนั้น สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาระบบการเดินทางให้ประชาชนในกรุงเทพมหานคร มีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปและประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนระบบรางแทน โดยจัดให้มีโครงการการศึกษาและออกแบบรายละเอียดเบื้องต้นระบบรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว
วัตถุประสงค์ของโครงการ
กรุงเทพมหานคร มีความประสงค์ที่จะว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ การเงินวิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และทำหน้าที่ที่ปรึกษาตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๕๓ ของโครงการระบบรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพมหานคร
ลักษณะโครงการ
แนวเส้นทางโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายบางนา – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นแนวเส้นทางรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา มีระยะทางประมาณ 18.3 กิโลเมตร โดยมีพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ตามแนวถนนบางนา-ตราด ผ่านพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ องค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่และองค์การบริหารส่วนตำบลบางโฉลง เพื่อรองรับการขนส่งมวลชนเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยายที่ 2 ด้านทิศใต้โดยแนวเส้นทางวิ่งเริ่มจากจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า BTS สถานีบางนา และสถานีอุดมสุข ผ่านศูนย์ประชุมแห่งชาติไบเทค ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลบางนา ตัดผ่านถนนศรีนครินทร์ ตัดผ่านวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านตะวันออก ถนนวัดกิ่งแก้ว ในช่วงต้น แนวเส้นทางจะหยุดที่บริเวณ ธนาซิตี้ เมื่อมีการเปิดให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิด้านใต้จึงทำส่วนต่อขยายโดยเลี้ยวซ้ายเข้าทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิด้านใต้ สุดเส้นทางที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีสถานีหลัก 12 สถานี และสถานีส่วนต่อขยายอีก 2 สถานี ในอนาคต รูปแบบโครงสร้างเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดทั้งสาย
สถานีที่ | ชื่อสถานี |
1 | สถานีบางนา |
2 | สถานีประภามนตรี |
3 | สถานีบางนา-ตราด 17 |
4 | สถานีบางนา-ตราด 25 |
5 | สถานีวัดศรีเอียม |
6 | สถานีเปรมฤทัย |
7 | สถานีบางนา-ตราด กม.6 |
8 | สถานีบางแก้ว |
9 | สถานีกาญจนาภิเษก |
10 | สถานีวัดสลุด |
11 | สถานีกิ่งแก้ว |
12 | สถานีธนาซิตี้ |
13 | สถานีมหาวิทยาลัยเกริก |
14 | สถานีสุวรรณภูมิใต้ |